นโยบายการรับข้อร้องเรียนและการให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียน

บริษัท เงินยินดี จำกัด (“บริษัทฯ“)  ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการทุจริตและการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานและการติดต่อกับผู้มีส่วนได้เสียซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจและการดำเนินงานทางธุรกิจของบริษัท บริษัทจึงกำหนดกลไกในการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการกรณีที่มีการชี้เบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย หรือพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการคอร์รัปชันของบุคลากรของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงมาตรการคุ้มครองที่เหมาะสมแก่ผู้แจ้งเบาะแสตาม นโยบายฉบับนี้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และเพื่อให้การรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตและการกระทำผิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. วัตถุประสงค์
  • เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียน การแจ้งเบาะแสการทุจริต การประพฤติมิชอบ และการปฏิบัติที่ขัดต่อระเบียบของบริษัทฯ มีแบบแผนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลใดๆ ที่กระทำการแทนบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง โปร่งใส ยุติธรรม และสามารถตรวจสอบได้ โดยสอดคล้องกับกฎหมาย การกำกับดูแลกิจการที่ดี และจริยธรรมธุรกิจ รวมทั้งระเบียบต่างๆ ของบริษัทฯ
  • เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำผิดและการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร และช่วยให้สามารถตรวจพบและลดความเสียหายจากการกระทำผิดหรือการทุจริต
  • เพื่อกำหนดช่องทางในการรายงานให้บริษัทฯ ทราบถึงการปฏิบัติงานของกรรมการ พนักงาน หรือบุคคลใดๆ ที่กระทำการแทนบริษัทฯ ที่ขัดหรือสงสัยว่าจะขัดต่อกฎหมาย การกำกับดูแลกิจการที่ดี และจริยธรรมธุรกิจ รวมทั้งระเบียบต่างๆ ของบริษัทฯ
  • เพื่อให้ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสและบุคคลใดที่ให้ความร่วมมือกับบริษัทฯ ด้วยความสุจริตใจได้รับความคุ้มครอง รวมถึงได้รับการป้องกันจากการถูกกลั่นแกล้งอันเนื่องมาจากการร้องเรียนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
  • เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหา ข้อคับข้องใจ และข้อร้องเรียน ตลอดจนยุติข้อร้องทุกข์ของพนักงาน รวมถึงการป้องกันปัญหาและนำมาซึ่งความพอใจของพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้บริษัทฯ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
  • เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติที่โปร่งใส และเที่ยงธรรมในการสอบสวนการกระทำผิดและการทุจริต
  • เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์และคุณค่าจริยธรรมที่ดีของบริษัทฯ และพนักงาน
  1. ขอบเขตของเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส
  • บุคลากรของบริษัทฯ หรือบุคคลใดๆ ที่กระทำการแทนบริษัทฯ อาจถูกร้องเรียนตามนโยบายฉบับนี้หากมีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของบริษัทฯ นโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี
    และจรรยาบรรณของบริษัทฯ

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การใช้กลไกตามนโยบายฉบับนี้อาจครอบคลุมการประพฤติอันมิชอบในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

  • การกระทำความผิดทางอาญาหรือการยุยงให้กระทำความผิด
  • การกระทำที่สุ่มเสี่ยงใดๆ ซึ่งรวมถึงการทุจริต การให้สินบน และการขู่กรรโชก
  • การไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือแนวทางปฏิบัติใดๆ ในด้านกฎหมายหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • การกระทำ ความประพฤติ หรือการละเว้นการกระทำในทางบัญชี รายงาน บันทึกรายการ และแนวทางปฏิบัติ และ/หรือ การรายงานทางการเงินหรือการควบคุมภายในที่มีพิรุธหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือแนวทางปฏิบัติทั่วไป
  • เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยของบุคคลใด
  • เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
  • การกระทำที่เป็นการกระทำผิดร้ายแรงตามนโยบายและระเบียบต่างๆ ของบริษัทฯ
  • การกระทำโดยเจตนาให้บริษัทฯ เสียหายหรือเสียประโยชน์
  • กรณีที่ไม่สามารถแก้ไขหรือดำเนินการตามขั้นตอนอันสมเหตุผลในการรายงานเรื่องที่อาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายหรือความเสียหายร้ายแรงต่อบริษัทฯ โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
  • การปิดบังการกระทำความผิดประเภทต่างๆ ข้างต้นโดยเจตนา
  • บริษัทฯ ส่งเสริมให้ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนเปิดเผยตัวตน (เฉพาะกับหน่วยรับแจ้งเรื่องร้องเรียน) และ/หรือให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการประพฤติผิด โดยผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสจะต้องระบุรายละเอียดของข้อร้องเรียนหรือเรื่องที่แจ้งเบาะแสพร้อมชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ และส่งข้อร้องเรียนหรือเรื่องที่แจ้งเบาะแสดังกล่าวมายังช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนหรือการรับแจ้งเบาะแสตามที่บริษัทฯ กําหนด

อนึ่ง ในกรณีที่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนไม่เปิดเผยตัวตนให้หน่วยรับแจ้งเรื่องร้องเรียนทราบ ผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียน เมื่อรับเรื่องร้องเรียน จะพิจารณาถึงข้อมูลประกอบเรื่องร้องเรียนว่ามีข้อมูลที่ระบุรายละเอียดของข้อเท็จจริง หรือหลักฐานที่มีความชัดเจนเพียงพอหรือไม่ โดยจะไม่รับเรื่องร้องเรียนหากเป็นเรื่องที่ไม่ระบุพยาน หลักฐาน หรือพฤติการณ์ของการทุจริต หรือการประพฤติผิดที่ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ หรือเป็นเรื่องที่ผ่านการร้องเรียนและมีการวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดอย่างเป็นธรรมแล้วและไม่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญเพิ่มเติม

  1. ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนหรือการรับแจ้งเบาะแส

บริษัทฯ ได้กําหนดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนหรือการรับแจ้งเบาะแสไว้ดังนี้

  • ทางไปรษณีย์

นําส่งที่ แผนกรับเรื่องร้องเรียน

บริษัท เงินยินดี จำกัด

304 อาคารวานิชเพลส อารีย์ ชั้น 16 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400

  • ทางอีเมล: Complaint@ngernyindee.co.th
  • ทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ: ngernyindee.co.th
  1. การให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสและบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  • เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลที่กระทําการโดยมีเจตนาสุจริต บริษัทฯ จะปกปิดชื่อ
    ที่อยู่หรือข้อมูลใดๆ ที่สามารถระบุตัวผู้ร้องเรียนหรือผู้ให้ข้อมูล และเก็บรักษาข้อมูลของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ โดยจะจํากัดเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดําเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
  • ในกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการคอร์รัปชันของผู้บริหารหรือผู้บริหารระดับสูง คณะกรรมการสอบสวนจะทําหน้าที่ในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน อันตราย หรือความไม่ชอบธรรมใดๆ (เช่น การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน หรือสถานที่ทำงาน รวมไปถึงการพักงาน ข่มขู่ หรือรบกวนการปฏิบัติงาน การเลิกจ้าง หรือการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้นั้น) อันเกิดมาจากการแจ้งเบาะแส การร้องเรียน การเป็นพยานหรือการให้ข้อมูล นอกจากนี้ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน มีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูล ข้อร้องเรียนและเอกสารหลักฐานของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ
    ห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามที่กฎหมายกําหนด
  • นอกจากนี้ บริษัทฯ ไม่มีนโยบายลดตําแหน่ง ลงโทษ หรือก่อให้เกิดผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการกระทำผิดหรือการคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทํานั้นจะทําให้บริษัทฯ สูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม
  1. ขั้นตอน การดำเนินการ และระยะเวลาการสอบสวน
  • ผู้ที่รับเรื่องร้องเรียนจะต้องส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวให้แก่แผนกรับเรื่องร้องเรียน โดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องดำเนินการภายใน 1 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน โดยแผนกรับเรื่องร้องเรียน จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและกลั่นกรองข้อมูลในเบื้องต้นที่ได้รับจากผู้แจ้งเบาะแส
  • แผนกรับเรื่องร้องเรียน ต้องพิจารณาและสรุปผลในเบื้องต้นให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมาพิจารณา กรณีแผนกรับเรื่องร้องเรียน ไม่สามารถพิจารณาและสรุปผลเรื่องร้องเรียนดังกล่าวในเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาข้างต้น ให้เสนอเรื่องต่อผู้บริหารเพื่อขออนุมัติการขยายระยะเวลา ทั้งนี้ การอนุมัติขยายระยะเวลาดังกล่าวมิให้เกินครั้งละ 5 วันทำการ
  • เมื่อแผนกรับเรื่องร้องเรียน ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ ในกรณีตรวจสอบในเบื้องต้นแล้วพบว่ามีมูลความจริง แผนกรับเรื่องร้องเรียน จะนำเสนอต่อผู้จัดการฝ่ายที่รับผิดชอบหรือนำเสนอต่อผู้บริหารเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
  • ผู้บริหารอาจมอบหมายให้แผนกรับเรื่องร้องเรียน หรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็น
    ผู้กลั่นกรองสอบสวนข้อเท็จจริง และแจ้งผลการตรวจสอบเป็นระยะให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนได้ทราบ
  • ภายใน 7 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการตรวจสอบ แผนกรับเรื่องร้องเรียน หรือคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอแนวทางในการดำเนินการแก่ผู้บริหาร เพื่อพิจารณาสั่งการและกำหนดแนวทางการดำเนินการแก้ไข และพิจารณากำหนดบทลงโทษต่อไป กรณีจำเป็นที่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอเรื่องต่อผู้บริหารเพื่อขออนุมัติการขยายระยะเวลา ทั้งนี้ การอนุมัติขยายระยะเวลาดังกล่าวมิให้เกินครั้งละ 5 วันทำการ
  • ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นความผิดร้ายแรงหรือเป็นกรณีของข้อร้องเรียนที่มีต่อกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูง เมื่อคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้ว ให้เสนอแนะแนวทางการดำเนินการแก่คณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาสั่งการและกำหนดแนวทางการดำเนินการแก้ไข และพิจารณากำหนดบทลงโทษต่อไป
  • หากมีการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่มีอยู่นั้นมีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทําความผิด หรือกระทำการคอร์รัปชันจริง บริษัทฯ จะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหา และพิสูจน์ตนเอง โดยการหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันนั้นตามที่ถูกกล่าวหา
  1. กระบวนการรับเรื่องร้องเรียน

 

  1. บทลงโทษ
  • หากผู้ถูกกล่าวหาได้กระทําความผิดหรือกระทำการคอร์รัปชันนั้นจริง ผู้กระทําผิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงาน ย่อมถือว่าได้กระทําผิดต่อนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน และจรรยาบรรณ และจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทฯ กําหนดไว้ และหากการกระทําผิดนั้นเป็นการกระทําที่ผิดต่อกฎหมาย ผู้กระทําผิดนั้นอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมายไม่ว่าในทางแพ่งหรือทางอาญาหรือตามกฎหมายอื่นด้วย ทั้งนี้ ให้โทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัทฯ และ/หรือ คําตัดสินของคณะกรรมการบริษัทถือเป็นอันสิ้นสุด
  • ผู้ใดกระทำการใดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้ รวมทั้งมีพฤติกรรมที่กลั่นแกล้ง ข่มขู่ ลงโทษทางวินัย หรือเลือกปฏิบัติ ด้วยวิธีการอันไม่ชอบธรรม เนื่องมาจากการร้องเรียนต่อผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสตามนโยบายฉบับนี้ ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย และต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายแก่บริษัทฯ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว ตลอดจนรับผิดในทางแพ่งและทางอาญาหรือตามกฎหมายอื่นต่อไปด้วย
  1. การสื่อสาร

บริษัทฯ จะจัดให้มีการสื่อสารและเผยแพร่นโยบายการรับข้อร้องเรียนและการให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียน รวมถึงช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนหรือการรับแจ้งเบาะแสให้ลูกค้า คู่ค้า และบุคลากรของบริษัทฯ รับทราบผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น การปฐมนิเทศกรรมการและพนักงานใหม่ งานอบรมหรือสัมมนาประจําปี การติดประกาศในบอร์ดประชาสัมพันธ์
ระบบอินเทอร์เน็ต อีเมล เว็บไซต์ของบริษัทฯ เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนในองค์กร เข้าใจ เห็นชอบ และปฏิบัติตามนโยบาย
และมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจัง  

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะสื่อสารและเผยแพร่นโยบายการรับข้อร้องเรียนและการให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียน รวมถึงช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนหรือการรับแจ้งเบาะแสไปยังสาธารณชน บริษัทย่อย (ถ้ามี) บริษัทร่วม (ถ้ามี) ตลอดจนตัวแทนทางธุรกิจ คู่ค้าทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของบริษัทฯ เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้าใจและสนับสนุนให้ยึดมั่นในมาตรฐานการรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชันเช่นเดียวกับบริษัทฯ